วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ยาหอมไทย



ยาหอมไทยดีอย่างไร

โดยนาย คมสัน ทินกร ณ อยุธยา
กรรมการผู้จัดการ บริษัทภูลประสิทธิ์ จำกัด
ผู้ผลิตยาแผนไทย สืบตำรับ ม.ร.ว. สอาด ทินกร ได้รับ GMP

ยา + หอม เป็น “ยาหอม” ฉะนั้นสรรพคุณแรกสุดของยาหอม คือ ต้องหอม ยาหอมต้องมีรส กลิ่นสุขุม คือกลางๆ ไม่ร้อนไปเย็นไป สุขุมออกทางร้อน แก้ลมกองหยาบ สุขุมออกทางสุขุม แก้ลมกองละเอียด ยาหอม คือ อโรมาเธอราปี แบบกลิ่นสัมผัส ในสมัยก่อน ใช้นัตถุ์

ยา หอมได้ด้วยของหอม คือสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม มีน้ำมันหอมระเหยทางธรรมชาติ อาทิ เกสรทั้งห้ามีพิกุล /บุนนาค /สารภี/เกสรบัวหลวง/มะลิลา ไม้หอม กำยานหอม หญ้าฝรั่น พิมเสน ชะมดเช็ด เป็นต้น

นอกจากสมุนไพรของหอมแล้ว วิธีการผลิต ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยา หอม การอบ เครื่องหอม การปรุงเครื่องหอม ล้วนทำให้ยานั้นหอมขึ้น

ยาหอมไม่ใช่แค่แก้ลม สรรพคุณยาหอมนั้น เสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน คิดอะไรไม่ออก หยิบอะไรไม่ถูก หยิบยาหอมไว้ก่อน วิงเวียน หน้ามืดตาลาย เมารถ เมาเรือ เมาเหล้า นอนไม่หลับ ปวดท้อง ท้องแน่นเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เครียด คนไทยใช้ยาหอมมาแต่โบราณ เป็นร้อยกว่าปีขึ้นไป ฝรั่งใช้แอมโมเนีย แต่คนไทยมียาหอมมากมาย เพราะเป็นโรคทางลมมากกว่า เนื่องจากเพราะถิ่นที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นมักป่วยจากลมเป็นเหตุ

ยาหอมพม่า เรียกกันว่า “อะปะทะ” ใช้สูดดม ยาหอมแขก เรียก พูดิน่า (สาระแหน่) ใช้ทานเวลาอาหารไม่ย่อย ยาหอมไทย มีทั้ง ยาหอมลมกองหยาบ/ลมกองละเอียด/ ลมทั้งสองกอง แต่กองลมนั้นแยกย่อยได้อีกมากมาย ตามแต่เหตุสมุฎฐานที่เกิดอาการ ลมไปถึงไหนใช้ยาหอมตามไปแก้ เช่นลมในช่องท้อง/ลมแน่นที่หน้าอก/ลมจุกที่คอ /ลมตีขึ้นเบื้องสูง หมอไทยปรุงยาหอมแยกไปตามอาการเหล่านั้น โดยใช้สมุนไพรที่ออกฤทธิ์ต่างกัน นับเป็นภูมิปัญญายิ่งของหมอไทย

ยาหอม ช่วยแก้ลม แต่ลมมีหลายกอง ไม่ใช่ยาหอมหนึ่งขนาน แก้ได้ทุกกองลม ยกเว้นยาหอมขนานนั้น เข้าตัวยาพร้อมทั้งกรรมวิธีในการปรุ ครบเครื่อง ทั้งสมุนไพรรสร้อน รสเย็น พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ มีการเพิ่มฤทธิ์ ด้วยกรรมวิธีการปรุงยาหอม การอบกระแจะ การผสมผสานด้วยเครื่องยาออกฤทธิ์ได้เร็ว เช่น ชะมดเช็ด เป็นต้น ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ รรอมเมื่อปรุงแล้ว ต้องมีรสสุขุมเท่านั้น ยาหอมออกรสอื่น เช่นรสหวานไม่ใช่ยาหอม ถึงแม้จะปรุงด้วยเครื่องยารสร้อน รสเย็น เหตุเพราะรสหวาน ทำให้เกิดเสมหะ รสหวานชอบทางเนื้อ ไม่ชอบทางลม หวานบำรุงเนื้อ ไม่ใช่แก้ลม รสสุขุมของยาหอมยังแบ่งออกได้อีกเป็น

สุขุมออกทางร้อน

: สำหรับอาการทางลมที่ธาตุไฟหย่อน เช่น อาหารไม่ย่อย

สุขุมออกสุขุม

: สำหรับ ลมกองละเอียดมากๆ ต้องการฤทธิ์เร็ว ในการแก้อาการ เช่น อาการลมเข้าไปเสียดชายโครงด้ายซ้าย

สุขุมออกทางเย็น

: สำหรับ อาการลมที่ธาตุไฟกำเริบอยู่ มีลมพร้อมไข้แทรก นั่นคือความประณีตของยาหอมไทย

การใช้ยาหอมควรใช้ให้ถูกต้อง การปรุงยาหอมก็ต้องทำให้ครบถ้วนตามสรรพคุณที่ต่างกันไปนั้น แล้วอายุขนาดใดจึงใช้ยาหอมได้ ยาหอมใช้ได้ทุกวัย นับแต่แรกเกิด เด็กมักป่วยด้วยเหตุลมกองหยาบ ท้องมักอืดแน่นปวดท้อง เข้าวัยรุ่น ยิ่งสมัยนี้ เป็นโรคคอมพิวเตอร์ซินโดรมกันมาก ลมกองหยาบมักกำเริบ ลามไปถึงอาการตึงคอ บ่า ไหล่ ปวดหัวไมเกรน เข้าวัยผู้ใหญ่ ๓๒ ปีขึ้นเป็นปัจฉิมวัย ลมกำเริบอีก ทั้งลมกองหยาบ ลมกองละเอียด มากันครบ กินยาหอมแล้วควรจะเรอหรือผายลม เพราะยาหอมขับลม แล้วอาการใดบ้างละ ที่ต้องใช้ยาหอม

แน่นอึดอัด/ไม่ผายลม/ไม่เรอ/อาหารไม่ย่อย/เมารถ ใช้ยาหอมรสสุขุมร้อน

อึดอัดไม่สบายจากพิษไข้ ตาเซื่องซึม ท้องเสีย ใช้ยาหอมรสสุขุมเย็น

ปวดเสียวใต้ชายโครงด้านซ้าย/ปวดหัวไมเกรนแล้วผะอืดผะอม ใช้ยาหอมรสสุขุมๆ

เพลียเหนื่อย/ลมแดด/นอนไม่หลับ/ไม่สบายใจ/หน้ามืดตาลาย/บ้านหมุน ใช้ยาสุขุมๆ

บำรุงหัวใจ/บำรุงระบบประสาท/บำรุงธาตุ ใช้ยาหอมสุขุม/สุขุม

ยาหอมที่ดีที่สุด คือยาหอมที่เข้าเครื่องหอม ประกอบด้วย หญ้าฝรั่น/พิมเสนในปล้องไม้ไผ่/ชะมดเช็ด/ชะมดเชียง/อำพันทอง สรรพคุณดีที่สุด/ทำยากที่สุด/ราคาแพงที่สุด ใช้กับลมปัจจุบัน

แล้วควรใช้ยาหอมอย่างไร ยาหอมเป็นผงดีที่สุด เพราะได้อโรม่าครบทั้งกลิ่นและสัมผัส ถ้าไม่เข้าชะมดเช็ด ใช้ชงกับน้ำอุ่น ถ้าเข้าชะมดเช็ด ให้ทานหรือนัตถุ์ ถ้าเป็นเม็ดใช้แล้วแตกตัวในท้อง เหมาะกับยาหอมรสสุขุมร้อน วิธีทดสอบยาหอม ถ้าไม่เข้าสารปนเปื้อนที่เป็นวัตถุหนัก ให้ดูที่การกระจายตัวในน้ำ ถ้าทิ้งดิ่งลงมา แสดงว่ามีการปนเปื้อน เพราะหนักกว่าน้ำ ดูผู้ผลิตว่าได้ อย. ไหม มีมาตรฐานผลิตGMP ไหม ยาหอมต้องมาจากธรรมชาติล้วนทั้งหมด


ยาหอมไทย ภูมิปัญญาไทย สร้างมาเพื่อคนไทย ในถิ่นไทย คงไม่มีคำกล่าวที่ว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเรามียาหอมไว้รักษาโรคลม แต่สูญหายไปหมดสิ้นแล้วในปัจจุบัน


ยาหอมไม่ใช่แค่แก้ลม

ยาหอมไทยตำรับนี้ปัจจุบันสืบทอดมาได้ถึงชั่วคนที่เจ็ดแล้ว และสำหรับราชกุลนี้ มี ๓ ภูมิปัญญา ที่ส่งผ่านสืบต่อกันมา


๑. เรื่องตำรับยาไทย(สืบ ตำรับโดย หม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร)


๒.เรื่องอาหารไทย ( สถาบันศิลปอาหารไทย ตำรับ หม่อมหลวงพวง ทินกร )


๓. เรื่องดนตรีและการประพันธ์ (เช่น ท่านเหมเวชกร ลูก มล.สำริด ทินกร /นายอุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรีวง อ.ส. วันศุกร์ ) เป็นต้น ในด้านยาไทย สืบมาจาก หม่อมเจ้า๔ พี่น้อง เจียก /ปาน/ภูลสวัสด์/ปราณี ซึ่งแต่ละท่านเป็นแพทย์ในพระองค์รัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะหม่อมเจ้าเจียก ได้รับใช้ใกล้ชิดเวลาเสด็จประพาสในที่ต่างๆ ทั้งยังเป็นผู้อำนวยการราชแพทยาลัย ครั้งก่อตั้งศิริราชพยาบาล สอนและรักษาแบบแผนโบราณ จนสถาบันแพทย์แผนไทย ยกย่องให้ท่านเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน ตำรับและวิธีการรักษา การวินิจฉัยสมุฎฐานโรค ได้ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไม่ขาดช่วงตอน ตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในวังทินกร มีคลินิกรักษา ชื่อ พิพิธเภสัชบริษัท จนมาเป็นร้านขายยาหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร ตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่๖ จนถึงปัจจุบัน และพัฒนาขึ้นเป็น บริษัทภูลประสิทธิ์ จำกัด ผลิตยาแผนไทย ที่ได้รับมาตรฐานการผลิตจีเอ็มพี


ยาหอมภูลประสิทธิ์ ตำรับที่สืบจากหม่อมเจ้าในราชกุล “ทินกร” เริ่มมีมาตั้งแต่ครั้งวังทินกร ประมาณช่วงรัชกาลที่๔ ถึง ๕ เรียก ยานัตถุ์หอมภูลประสิทธ์ ซึ่งมีชื่อเสียงนับมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ในตำรับจริงๆแล้ว มียาหอมที่ทำสืบกันมาหลายขนาน อาทิ ยาหอมภูลประสิทธิ์/ ยาหอมอุดมนพรัตน์/ยาหอมสังข์ทิพย์/ยาหอมมหาสีสว่าง/ยาหอมเทพจิตรารมย์/ยาหอมเศียรสมุทร/ยาหอมกล่อมอารมณ์เป็นต้น


ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดต่อกันมา นอกจากเรื่องตำรับทางยารักษาโรคแล้ว ยังเป็นเรื่องของการวินิจฉัยอาการแห่งโรค โดยเฉพาะทางวาโย เป็นสมุฎฐานโรค จำแนกได้ตามอาการ ที่ได้วินิจฉัยดังนี้
- ลมกองละเอียด/ลมกองหยาบ แบบไม่มีไข้เป็นอาการข้างเคียง ใช้ยาหอมภูลประสิทธ์
- ลมกองละเอียด แบบมีไข้เป็นอาการข้างเคียง ใช้ยาหอมมหาสีสว่าง
- ลมกองหยาบ เป็นสมุหฐาน ใช้ยาหอมอากาศบริรักษ์
- ลมแน่นเข้าที่หน้าอก ใช้ยาหอมอุดมนพรัตน์
- ลมจุกในลำคอ ใช้ยาหอมสังข์ทิพย์
- ลมเข้าตามเส้นแนวไหล่ถึงศีรษะ ใช้ยาหอมอดุลสำราญ
- ลมตีขึ้นเบื้องสูง ใช้ยาหอมเทพจิตรารมณ์
- ลมกระทำต่อศีรษะ ให้ปวด ใช้ยาหอมเศียรสมุทร
- ลมที่กระทำให้มิหลับ ใช้ยาหอมกล่อมอารมณ์
- ลมปลายไข้ ใช้ยาหอมมหาเนาวรัตน์
- ลมที่กระทำต่อระบบทางเดินหายใจ ใช้ยาหอมมหาสว่างอารมณ์ใหญ่
- ลมเข้าแนวเส้นปัตตฆาต ใช้ยาเหลืองปัตตะฆาต
- ลมเข้าในเส้น ใช้ยามหาสันนิบาตุ
- ลมเข้าในกระดูก ใช้ยามหาโมคจร
- ลมกระษัย กล่อน ใช้ยาทำลายพระสุเมรุ
- ลมพรรดึก ใช้ยาธรณีไหว
- ลมแดด/ลมตะกร้อ ใช้ยาอุทัยโอสถ/วิมลจินดา
- ลมพิษ ใช้ยาเขียวประกายพฤกษ์
- ลมอัมพฤกษ์ / อัมพาต ใช้ยานเรศเรื่องฤทธิ์

สำหรับด้านวัตถุดิบ
แหล่งที่มา
สืบเนื่องต่อกันมารุ่นสู่รุ่น เช่น มะลิซ้อน จากสุพรรณบุรี บัวหลวง จากนครสวรรค์ มะลิลา จากนครปฐม บุนนาค จากพิษณุโลก ใบเนียม จากจันทบุรี ปัญหา วัตถุดิบเริ่มน้อยลง เนื่องเพราะภาวะแห้งแล้ง คนรุ่นต่อมาไม่ทำต่อ อีกทั้ง แปลงที่ใช้ทำยา ไม่มีการพ่นยาฆ่าแมลง บำรุงรักษายาก
ราคา
โดยเฉพาะเครื่องปรุงหอม สำหรับยาหอมลมกองละเอียด หายากและราคาสูงมากเช่นพิมเสนในปล้องไม้ไผ่ จากมาเลเซียและอินโดนีเซีย หญ้าฝรั่นจากอิหร่านและสเปนชะมดเชียงจากประเทศจีน ชะมดเช็ดจากไทยซึ่งราคาปัจจุบันถึงกิโลกรัมละ สองแสนกว่าบาท เนื่องจากในตำรับยาไทยหลายขนาน เช่น ยาหอมตำรับที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ ก็เข้าชะมดเช็ด จำนวนตัวชะมดเช็ดในไทยที่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวนได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านนิยมนำไปบริโภคเป็นอาหารชูกำลังเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ พื้นที่ป่าไม้ลดลง คนไปแย่งที่ทำกินของชะมดในป่า จำนวนผู้เลี้ยงชะมดลดลงไม่มีผู้สืบต่อ ชะมดเลี้ยงยาก เพาะพันธ์ยาก ต้นทุนในการเลี้ยงสูง เหล่านี้เป็นปัจจัยหลักทำให้ชะมดเช็ดในตลาดหายากและราคาสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดหนึ่งคงไม่สามารถทำยาแก้ลมกองละเอียดกันได้อีกต่อไป ตำรับตำราก็จะขึ้นเก็บบนหิ้งเหมือนยาไทยอีกหลายขนานที่ไม่สามารถปรุงได้แล้วในปัจจุบัน แต่ก็ได้ทราบข่าวอันเป็นมงคล ความนี้ได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงมีพระราชดำริให้โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยวิธีการเพาะเลี้ยงและขยายพันธ์ชะมดเช็ด เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธ์ โดยเป็นการศึกษาร่วมกัน ระหว่าง กรมอุทยาน แห่งชาติ ร่วมกับโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ ทั้งนี้รวมถึงวิธีการนำไขชะมดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางด้านยาแผนโบราณ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้กับประชาชนโดยทั่วไป อยากขอความร่วมมือจากสถาบันการแพทย์แผนไทย ในเรื่องของชะมดเช็ดด้วย โดยเฉพาะงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ เพื่อให้ยาหอมไทยคงอยู่สืบไป ไม่สูญสิ้นเหมือนยาอื่นอีกหลายๆขนาน
คุณภาพวัตถุดิบ
ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ ผู้ผลิตจำเป็นต้องพิถีพิถัน มีความรู้เรื่องการปรุงยา เช่น ถ้าใช้ดอกไม้หอม จากต้นไม้ยืนต้น อย่างน้อยต้นต้องมีอายุเกินสิบปีขึ้นไป ดอกมะลิซ้อนต้องเก็บตอนเช้ามืดเท่านั้น สมุนไพรบางอย่างต้องผ่านการประสะฆ่าฤทธิ์ก่อนนำไปใช้ เช่น หัวบุก รากกระย่อม กาวเครือขาวและแดง เป็นต้น
ขั้นตอนการผลิต ยาหอมลมกองละเอียด ต้องมีการอบกระแจะหอมเป็นพื้นฐานในการปรุงยา อบร่ำด้วยเครื่องหอมอย่างน้อยหกสิบวัน จึงนำไปปรุงยาขั้นต่อไปได้ เพื่อคุณภาพและและประสิทธิผลในการบำบัดรักษา เป็นภูมิปัญญาของไทยที่จำต้องอนุรักษ์ไว้ การทำความสะอาดวัตถุดิบสมุนไพร มีความจำเป็นสูง การตรวจสอบจากแลปก็เช่นกัน เพื่อให้ปราศจากเคมี และเชื้อต่างๆ ผลิตยาโบราณ แต่สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในขั้นตอนการผลิตได้้
ขั้นตอนการผลิตยาหอม
1. เจียดยาจากแหล่งวัตถุดิบ
2. ชั่งน้ำหนัก ตรวจสอบคุณภาพ
3. ล้างทำความสะอาด ส่วนที่มีน้ำมันหอมระเหย แยกออก
4. ตากให้แห้งแล้วอบ
5. ส่งแล็ปตรวจเคมีปนเปื้อน
6. บดหยาบ /ละเอียด
7. ร่อน
8. ตรวจสอบการปนเปื้อนคร้งที่1
9. ผสมน้ำกระสายยา
10. ปาด แล้วนำอบกระแจะ ให้เป็น กระแจะสุกอีก 60 วันๆ ละ 10 ชม.
11. อบให้แห้ง
12. บดละเอียด
13. ร่อน
14. ผสมเครื่องหอม
15. คนยาให้เข้ากันอีก 3 ชม. ด้วยมือเท่านั้น
16. ร่อน สามรอบ
17. ตรวจสอบการปนเปื้อนครั้งที่ 2
18. นำบรรจุ

จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้มาเป็นยาหอม ต้องผ่านขบวนการกรรมวิธีที่ละเอียดอ่อน ใช้ความมานะเพราะทุกอย่างจากอดีตจนปัจจุบันไม่มีการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการผลิต เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วทำอย่างไร ปัจจุบันก็ยังทำเช่นนั้นอยู่ จึงได้ยาที่หอม สมเป็นยาหอม เป็นยาอโรม่าเธอราปี ทางกลิ่นสัมผัส ทำให้ชุ่มชื่นในหัวใจ แก้อาการลมกองหยาบ คือ ลมที่ทำให้ท้องแน่นอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ลมกองละเอียดคือลมที่ทำให้หน้ามืดตาลาย วิงเวียน ปวดมึนในศีรษะ ยาหอมแต่ดั้งเดิมนั้น ใช้เป็นยานัตถ์ ตรงเข้าสู่ระบบประสาท แต่ปัจจุบันมักอยู่ในรูปแบบของผง ใช้ชงกับน้ำอุ่น แต่สำหรับยาหอมภูลประสิทธิ์ เข้าชะมดเช็ด ไม่ละลายในน้ำ ใช้ทานโดยตรงออกฤทธิ์เร็ว ยาหอมต้องออกฤทธิ์เร็ว เนื่องจากหากเกิดอาการทางลม เช่น เป็นลมแดด ลมชัก ลมปัจจุบัน เกิดอาการหมดสติ ยาหอมต้องเข้าไปทำหน้าที่ขับกองชีพจรขึ้นใหม่ ต้องเข้ากระแสโลหิตได้เร็วที่สุด หากช้าไปไม่ทันการณ์ ชะมดเช็ดเป็นตัวนำยาให้แล่นได้เร็ว อีกทั้งขบวนการอบกระแจะหอมยังไปช่วยเพิ่มฤทธิ์ในการบำบัดของยานั้น ขอยกสรรพคุณของยาหอมภูลประสิทธิ์ ในฉลากยาที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งหม่อมราชวงศ์สะอาด ทินกร ดังนี้

“ เป็นยาดับและและแก้ลมทุกชนิด จากต้นตำรับของ หม่อมเจ้าภูลสวัสดิ์ ทินกร โดยหม่อมราชวงศ์ สอาด ทินกรและ หม่อมราชวงศ์หญิงเจือ ทินกร ผู้เป็นบุตรได้ปรุงจำหน่ายสืบมา ยาขนานนี้แก้ลมทุกจำพวก เช่น ลมคลื่นเหียน, วิงเวียน ,หน้ามืดตามัว, หัวใจเต้นผิดปกติ, ลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้ท้องเฟ้อแน่น, จุกเสียด ลมที่เกิดจากเส้นประสาท อันมีอาการนอนไม่หลับ ,ใจคอหงุดหงิด, มึนงง, อ่อนเพลีย จนไม่สามารถใช้สมองได้ หรือใช้ความคิดในกิจการต่างๆได้ ลมขึ้นเบื้องสูงกระทบดวงจิต กระทำให้หน้าซีดตาเซียว เหงื่อออกผิดธรรมดา หายใจไม่สะดวกและชีพจรอ่อนลง จนถึงมีอาการชักกระตุกแน่นิ่งหรือสลบ เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นยาบำรุงหัวใจและช่วยอาการซึ่งเกิดจากการหิวโหย เหนื่อยอ่อน ร้อนจัด เมาคลื่น เมาสุราให้บรรเทาลงได้ สำหรับท่านที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ หญิงมีครรภ์ ตลอดจนทารกซึ่งเกิดลมได้เนืองๆ ยาขนานนี้เป็นคุณประโยชน์ อย่างยิ่ง ยาหอมภูลประสิทธิ์เหมาะสำหรับท่านหญิง ท่านชายทั่วไป ซึ่งควรมีไว้ประจำบ้านและติดตัวไปสถานที่ต่างๆเสมอ เมื่อถึงคราวฉุกเฉินและมีอาการไม่สบายขึ้นดังกล่าว ก็ใช้ยานี้บำบัดได้ทันที”

ที่กล่าวมาคือสรรพคุณของยาหอมแก้ลมกองละเอียดและกองหยาบโดยสมบูรณ์ นอกจาก

นั้นยาหอมลมกองละเอียดยังช่วยบำรุงระบบประสาทอีกด้วย เหมาะสำหรับโรคในปัจจุบัน เช่น

อัลไซเมอร์ เป็นต้น ทานยาหอมเป็นการบำรุงและการป้องกันไว้ก่อน หรือแม้แต่โรคกรดไหลย้อน

หากลมกองหยาบเป็นสมุฎฐาน ยาหอมก็ช่วยได้เช่นกัน


เรื่องราวยาหอมไทย คุณค่าภูมิปัญญาไทยติดตามได้ที่ www.yahomthai.com

และ www.dtam.moph.go.th สายด่วนยาหอมไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น