กระเจี๊ยบ
กระเจี๊ยบมีถิ่นกำเนิดในทวีปอัฟริกา เดิมนั้นชาวท้องถิ่นปลูกกระเจี๊ยบเพื่อนำเมล็ดมาทำน้ำมันปรุงอาหาร ต่อมาจึงมีการบริโภค ยอดอ่อน ใบและกลีบเลี้ยง กลุ่มพันธุ์ที่ใช้เป็นผักนี้ถูกนำไปปลูกในทวีปอเมริกาและประเทศอินเดีย ราว 400 ปีที่ผ่านมา กระเจี๊ยบมีลักษณะต่างๆโดยเฉพาะดอกคล้ายชบา และฝ้าย จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับพืชทั้งสองส่วนที่นำมาทำน้ำกระเจี๊ยบคือกลีบเลี้ยงและริ้วประดับอวบน้ำ ซึ่งเก็บเมื่อผลติดเมล็ดแล้ว หากนำกลีบเลี้ยงไปทำแห้ง แล้วนำมาชงกับน้ำร้อน ก็จะได้ชากระเจี๊ยบ ใบกระเจี๊ยบกินสดเป็นผัก สำหรับเมล็ดกระเจี๊ยบนั้นมีน้ำมันถึง 17-20% และมีคุณสมบัติคล้ายน้ำมันเมล็ดฝ้าย
กระเจี๊ยบเป็นไม้ล้มลุกอายุหนึ่งปี สูง 1-2 เมตร ลำต้นสีม่วงแดง ใบเดี่ยว ดอกเดี่ยว กลีบดอกสีชมพูหรือเหลืองบริเวณกลางดอกสีม่วงแดง เกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลแห้ง แตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มไว้
ในตำรายาไทยมีการใช้ใบและยอดอ่อนเพื่อแก้ไอ เมล็ดกระเจี๊ยบช่วยบำรุงธาตุและขับปัสสาวะ ผลการทดลองคลีนิกพบว่าน้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ขับปัสสาวะดี
สีแดงในน้ำกระเจี๊ยบคือ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เช่นเดียวกับที่พบในบลูเบอร์รี่ มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการเกิดมะเร็งและช่วยเสริมให้สุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ต่อต้านเชื้อโรคได้ดี เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และเสริมการทำงานของเม็ดเลือดแดงได้ดีขึ้น กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงยังมี เพคติน (Pectin) สูง จึงสามารถใช้ทำแยมได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น